ตามตำนานเล่าว่า เดิมทีพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านหนองบ่อนั้น จะเป็นหนองน้ำที่กว้างขวางกินอาณาบริเวณไปถึงบ้านกาซ้องร้องเป็ด บ้านเหมืองค่าสะบูในปัจจุบัน และเมื่อมีข่าวเรื่องการสร้างองค์พระธาตุขึ้นอยู่คู่เวียงโกศัยออกไปทั่วทุกสารทิศ ก็ได้มีพระธุดงค์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเดินทางรอนแรมมาจากทางทิศเหนือ หมายจะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุหรือสิ่งของศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ไปร่วมสร้างองค์พระธาตุแห่งนั้นด้วย เมื่อมาถึงบริเวณที่ดอนริมหนองน้ำก็ได้หยุดพัก แต่กลับเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นในคืนที่ท้องฟ้าโปร่ง ไร้ซึ่งอสรพิษน้อยใหญ่ทั้งปวง หม้อที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือสิ่งของศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ได้คว่ำลง โดยมิได้มีสิ่งใดถูกต้องเลย
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว หัวหน้าพระที่ธุดงค์มาก็ได้ถือเอาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีที่พระบรมสารีริกธาตุประสงค์จะสถิตย์อยู่ ณ บริเวณที่ดินดอนแห่งนี้ จึงได้ช่วยกันสร้างสถูปขึ้นครอบหม้อพระบรมสารีริกธาตุที่คว่ำลงได้ โดยหมายเอาว่าในภายภาคหน้า สถูปแห่งนี้จะเป็นสถานที่ระลึกถึงพระพุทธองค์ และสถูปดังกล่าวก็ได้รับการบูรณะมาตามแต่ยุคสมัยตราบจนปัจจุบัน ซึ่งนับได้ราว ๒๐๐ กว่าปี จนคนเฒ่าคนแก่พูดกันว่า “ พระธาตุบ้านเฮานี้เป๋นปี้ของเจ้าพระธาตุช่อแฮ” และชาวบ้านก็จะจัดงานประเพณีไหว้พระธาตุขึ้นในช่วงเดือน ๕ (การนับเดือนของคนทางภาคเหนือ) ของทุกปี ซึ่งตรงกับการจัดงานประเพณีไหว้พระธาตุปูแจ และพระธาตุจอมแจ้ง ดังคำที่คนทั่วไปกล่าวกันว่า “คนเมืองแป้ต้องไปไหว้พระธาตุ จอมแจ้ง ช่อแฮ ปูแจ หม้อคว่ำ”
ที่ตั้ง
พระธาตุหม้อคว่ำ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านหนองบ่อ ต. กาญจนา อ. เมืองแพร่ จ. แพร่